Archive for the ‘ อาหาร ’ Category

Food tips – 1 – มะเขือเปราะ ทำยังไงไม่ให้ดำ

ที่จริงก็ไม่ได้เรียนแค่แกะสลัก แต่เรียนทำอาหารคาวด้วย อ.ก็จะมี Tips ดีๆมาแนะนำตลอดๆ

เราก็เลยอยากเอามาแบ่งปัน ใครเห็นว่าไม่ถูกต้อง หรือมีอะไรเสริมบอกมาได้เลยนะ

Tips แรกเป็นเรื่องมะเขือเปราะ วันก่อนมีเรียนทำแกงเผ็ดเป็ดย่าง แล้วต้องใส่มะเขือเปราะ

โดยปกติ แค่ปอกออกมาก็ดำละ มีวิธียังไงไม่ให้ดำ

20161119_093019.jpg

เท่าที่รู้ตอนนี้มี 2 วิธี

  1. สำหรับคนไม่มีเวลา พอปอกเสร็จก็แช่น้ำเกลือ ก่อนใส่ก็สรงน้ำออก แล้วพอน้ำแกงเดือดก็ใส่ลงไปแล้วพยายามกดให้มะเขือจมในน้ำเดือดๆ พอสุกแล้วก็จะไม่ดำ
  2. สำหรับคนมีเวลาหน่อย พอปอกเสร็จก็แช่น้ำเกลือ แต่แช่นานหน่อยสัก 20 นาที แล้วก็สรงให้สะเด็ดน้ำขึ้นมา พอแกงก็ใส่ได้ตามปกติ

วิธีการดูคล้ายกัน แต่เรื่องเวลาแช่น้ำเกลือจะต่างกัน ผลก็ต่างกัน (ความรักก็เช่นกัน เกี่ยวไหม 55)

จบ Tips แรก

 

การทดสอบฝืมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ

หลังจากสอบ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1 ผ่านเรียบร้อย เราก็สอบต่อเลย

ต่อจากบทความที่แล้ว ในบทความนี้จะเล่าถึง การทดสอบฝืมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ (สถานทดสอบ) จะคล้ายๆกัน แต่ยากกว่า

สอบเพื่ออะไร

  • ใช้ในการยื่นประกอบ ขอวีซ่าในการทำงานยังต่างประเทศได้ ยกเว้นประเทศ เยอรมัน (ถ้าจำไม่ผิด) จะมีสอบแยก
  • เป็นการวัดระดับ เทียบเท่า กับ พ่อครัว แม่ครัว (พนักงานประกอบอาหาร ไม่ใช่แค่ผู้ช่วยแล้ว)

ใครสมัครสอบได้บ้าง

  • คนไทย อายุ 18 ปี ขึ้นไป
  • ไม่เคยต้องโทษ และ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง
  • มีประสบการณ์ทำงานด้านอาหารไทย >= 1 ปี หรือ ผ่านการอบรมมา >= 90 ชั่วโมง

สิ่งที่ใช้ในการสมัครสอบ

  • ใบสมัคร (อันนี้ไปกรอกที่โรงเรียนได้เลยมีตัวอย่างให้ดูอยู่ ข้อมูลเราน่าจะกรอกได้อยู่แล้ว ส่วนมากคนมาสอบอันนี้จะมีประเทศที่ต้องการไปอยู่แล้ว ส่วนใครที่มาสอบวัดความรู้หรือเก็บไว้ก่อนก็ คิดมานิดนึงว่าอยากไปทำงานประเทศไหน เค้ามีสำรวจเก็บข้อมูลอยู่)
  • สำเนาบัตรประชาชน (อย่าลืมเซ็นต์ สำเนาถูกต้องด้วยนะคะ)
  • สำเนาทะเบียนบ้าน (เซ็นต์สำเนาถูกต้องด้วยเช่นกัน)
  • ใบผ่านงานด้านอาหารไทยอย่างน้อย 1 ปี หรือ ใบประกาศนียบัตรการอบรมด้านอาหารอย่างน้อย 90 ชั่วโมง
  • รูปถ่าย 2 นิ้ว จำนวน 3 รูป
  • ใบรับรองแพทย์ 1 ชุด (ตัวจริง ก็ไปโรงพยาบาล ขอใบรับรองแพทย์ ตรวจร่างกาย แต่ถ้าใครสมัครสองอย่างพร้อมกันก็ใช้ใบเดียวได้)
  • ค่าสมัคร 1000 บาท

วันสอบ

การแต่งกาย

ก็มีเสื้อเชฟ หรือ เชิิ้ตขาวแขนสั้น, กางเกงผ้าสีดำหรือเข้ม, รองเท้าหุ้มส้น (ผ้าใบสีดำก็ได้), หมวกคลุมผม (ถ้าผมยาวมากๆอาจใช้หมวกคล้ายๆหมอในห้องผ่าตัดได้), ผ้ากันเปื้อน, เตรียมผ้าเช็ดมือมาด้วยก็ได้ และที่สำคัญ เล็บควรตัดให้เรียบร้อยและสะอาด  ไม่ควรใส่อะไรๆที่แถวๆมือ (ที่สอบ มีอุปกรณ์ให้พร้อมเช่นมีด แต่ใครจะเอามาเองก็ได้ เพื่อชินมือ)

อุปกรณ์ เพิ่มเติมที่ควรเตรียมมา ***

อุปกรณ์ ต่างๆที่ใช้ในการแกะสลัก เช่น มีดแกะสลัก มีดปอก มีดหั่น ผ้าเช็ดมือ (ที่สอบมีเขียง ให้กับกะละมังใส่แช่ผัก)

อันนี้ผู้เขียนมึนๆ เข้าใจว่าเอามาแค่มีดแกะสลักก็พอ เลยโดนหักคะแนนไปนิดหน่อยในส่วนของความพร้อมอุปกรณ์ TT

การสอบ

7.40 > ควรมาถึงสถานที่สอบ

8.00-8.50 > เริ่มสอบทฤษฎี

มีทั้ง 4 ตัวเลือก และ แบบถูกหรือผิด 50 ข้อ 50 คะแนน 50 นาที คำถามจะคล้ายๆ สอบศูนย์ แต่ไมรู้สึกยากกว่า อาจเป็นเพราะ เน้นความเข้าใจในส่วนผสมของอาหารต่างๆ มากขึ้นด้วย เช่นเครื่องแกง แกงไหนใส่อะไรบ้าง อันไหนคั่ว ไม่คั่ว ก็มึนๆกันไป

9.00-11.00 > 2 ชั่วโมง เริ่มสอบแกะสลัก

มีผักให้หลายอย่าง ดังนี้ ต้นหอม 2 ต้น มะเขือเทศ 2 ลูก แครอท ครึ่งหัวใหญ่ แตงกวา 2 ลูก แตงล้าน 1 ลูกใหญ่ พริกแดง 1 เม็ด พริกเหลือง 1 เม็ด และน้ำเต้า 1 ลูก รู้สึกจะ 40 คะแนน อันนี้ เหลือสัก 10 นาทีควรเผื่อเวลาจัดจาน และเก็บของด้วย ผู้เขียนได้พริกค่อนข้างเหี่ยว และไม่ได้เอาผ้ามาด้วย เลยแกะพริกทีหลัง ก็ไม่ค่อยสวย พยายามให้มีความยากง่ายปนๆกันไปให้ทันเวลา และก็มีการปาดที่คมชัด เก็บรายละเอียดดีๆ อันนี้เห็นคนอื่นทำกันทันและสวยด้วย เรานี่เหลือ แครอท 1/4 ลูก พริกแดง 1/2 พริกเหลือง 1 เม็ด แตงกวา 1/3 ลูก (อ. เดินมาดูแล้วก็แอบแซวว่าเธอเป็นคนที่มีระเบียบดีเนอะ คือ เอาผักเรียงซะเต็มจานเลย 555 ไม่ดูเป็น 3 มิติ ดูเป็นมิติเดียว ก็ต้องค่อยฝึกกันไป)

11.00-11.30 อ.ให้พักทานข้าว ก็รีบๆทาน รีบๆกลับมา อ.จะแจกเมนูให้นั่งดู ทำความเข้าใจ วางแผนการทำงานกันก่อน อ.ก็จะอธิบาย ถึงการให้คะแนน เวลาที่ใช้ อันนี้รู้สึกปฎิบัติจะมีเวลา 3 ชั่วโมงครึ่ง ถ้าเกินไป 1 ชั่วโมง ตกเลย

12.00-15.30 > 3 ชั่วโมงครึ่ง สอบการประกอบอาหาร

เริ่มสอบ ก็ล้างมือก่อนเช่นกัน

และก็ลองวางแผน บางทีเพื่อนๆ อาจคิดแบบเดียวกับเรา ทำให้เราไปหยิบของบางอย่างไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนแผน

อันนี้ได้สอบ 4 อย่าง คือ แกงเผ็ดหมู, ผัดซีอิ้ว (อีกแล้ว แต่คนละสูตร), ขนมปังหน้าหมู, และก็เต้าส่วน

เริ่ม เนื่องจากถั่วต้องใช้เวลาแช่ค่อนข้างจะนาน เลยควรไปหยิบถั่วมาแช่น้ำก่อน

หลังจากนั้นเราก็เริ่มเตรียมพวกเครื่องแกง (แต่ที่จริง พวกหอม กับ กระเทียม ดูให้ครบทุกเมนูแล้วหยิบทีเดียวจะสบายขึ้น) หยิบพวกเครื่องที่ต้องตำมาก่อน พริกแห้งเนื่องจากต้องแช่น้ำให้นิ่ม จึงควรนำมาแกะเม็ด หั่น และแช่น้ำทิ้งไว้ หลังจากนั้นก็เตรียมเครื่องแกง และก็ตำ การตำให้ละเอียดยากมาก ผู้เขียนซึ่งแรงน้อย ตำไปได้พักนึงจะล้าเสียแล้ว พอตำเสร็จก็เตรียมพวก ผัก และก็เนื้อสัตว์ที่ต้องใส่ ก็ควรทำพวกผักก่อน ได้ไม่ต้องล้างเขียงหลายรอบ เริ่มผัด ระหว่างรอกระทิ แตกมัน ก็ไปทำอย่างอื่นๆได้ ไฟกลางๆ (อันนี้ผู้เขียนมึนๆ ไปเอาความคิดมาจากไหนไม่รู้ว่าแกงต้องแตกมันมากๆ ก็จัดไปจะ มันย่องเลย เยอะเกิน) แกงเผ็ดอันนี้มีมะเขือด้วย ก็พอหั่นเสร็จก็ควรแช่น้ำผสมน้ำเกลือ และก็รอให้น้ำแกงเดือนมากๆ แล้วค่อยใส่มะเขือลงไป กดให้จมจนสุก ก็จะทำให้มะเขือไม่ดำ หมูอันนี้ต้องไปหั่นแบ่งมาเอง พวกเอ็นเยอะมาก หั่นยากมาก พอเอาเอ็นๆออกถึงกับต้องไปเอามาเพิ่ม ไม่งั้นน้ำหนักไม่ถึง ก็ทำแกงตามวิธีการไปจนเสร็จ

ระหว่างทำแกง เราก็เริ่มไปหยิบของที่ต้องทำอื่นๆมา และก็แช่ถั่วไว้พอควรแล้วเลยเอาไปนึ่ง

(แกงเผ็ดพยายามแต่งแล้วใบโหระพาก็จม เลยทำใจ ไม่แต่ง อ.บอกว่าแตกมันเยอะไป เหมือนแกงอ่อมเลย รสใช้ได้หอม ไฟถึง พริกแกงยังไม่ค่อยละเอียดแต่อยู่ในเกณฑ์ได้อยู่ มะเขือเยอะไป นี่มันแกงมะเขือหรือไง ควรมีหมูเยอะกว่านี้หน่อย น้ำเนื้อโอเค ก็ใจเสียเล็กๆละ)

อย่างที่สองที่ทำคือผัดซีอิ้ว เนื่องจากถั่วก็รอสุก ขนมปังหน้าหมูใช้กระทะกลางก็ยังไม่มีเนื่องจาก นึ่งถั่วกันอยู่

ผัดซีอิ้๊ว เนื่องจาก สอบรอบแรกอ.ชมไว้ รอบนี้เลยเกร็ง กลัวเส้นขาด และก็กลัวผักไม่สุก กลัวโน้นนี่เยอะแยะ 555 สูตรนี้จะหมักไข่ไว้กับหมูก่อน พอผัดกระเทียมหอมแล้วก็เอาลง เราก็กลัวว่าหมูจะสุกไม่ทั่ว พอไข่ลงก็คนเลยจะ เละเลย ไข่กระจาย ผักก็ใส่ไปก่อนเลยกลัวไม่สุก ผัดนานไปก็แอบเหี่ยว พอใส่ผักแล้วก็เส้น เส้นจะน้อยพอผัดไปผัดมารู้สึกว่ามันติดกระทะ เอาออกยากๆ ขูดแต่ละที แลดูจะขาดง่ายเสียเหลือเกิน เลยเร่งไฟเล็กน้อยก่อนนำขึ้น ซึ่งก็เร็วไปนิด อ.บอกยังหอมกระทะไม่พอ

(อันนี้อ.ถามเลยว่าทำมากี่ครั้งแล้ว ครั้งที่สอบคราวที่แล้วออกมาดีกว่านี่นิ ที่จริงถ้าสูตรนี่ครั้งที่ 2 แต่ถ้าผัดซีอิ้วในชีวิตก็เป็นครั้งที่ 4 ก็หน้าจ๋อยๆไป รู้ตัว กลัวเส้นขาดเลยเอาขึ้นเร็วไปเร่งไฟน้อยไปหน่อย ก่อนหน้านั้น อ.บอกว่า ผักกาดหอมจะใส่มาทำไม นี่ไม่ใช่คั่วไก่นะ แง คือ ไม่รู้จะเอาอะไรมาแต่ง ก็เลยถามอ.ไป อ.บอกว่าผัดซีอิ้ว ก็ทำให้พูนๆ เรียงผัก เรียงหมูนิดหน่อย มันก็จะสวยด้วยตัวของมันเองแล้ว ok ka หนูจะจำไว้ 555)

เราทำขนมเป็นอย่างที่ 3 เพราะถั่วสุกพอดี ที่จริงแอบลืม แต่พอเดินไปดูอีกทีก็ได้พอดี รีบเอาขึ้นเลยก่อนจะแหลกสลาย เต้าส่วน ก็ตั้งน้ำ กับน้ำตาล ทิ้งไว้ให้เดือด ที่จริงรู้สึกว่านานจุงไมไม่เดือนสักที ดูเดือดยากมาก หลังจากนั้นก็ใส่แป้งลงไป ข้นเร็วมาก หนืดๆเลย เราก็เช็คเล็กน้อยด้วยการใส่ถั่วลงไป ว่าจมไหม ไม่จมเป็นอันว่าใช้ได้ ใส่ถั่วให้หมด แล้วก็คนเบาๆให้เข้ากันเฉยๆ ท่จริงระหว่างรอน้ำตาลเดือด เราก็เตรียมกะทิ กับเกลือ ใส่ใบเตย ไว้รอ พอทำขนมเสร็จ ก็ตั้งต่อเลย พอเดือด ก็เป็นอันใช้ได้

(อันนี้ ทำเสร็จก็ตักใส่ถ้วยเสริฟ ประดับด้วยใบเตยเล็กน้อย ราดด้วยกระทิพอดีๆ อันนี้อ.บอกว่า ok แต่ขนมน้อยไปหน่อย อันนี้เอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานไปหน่อยตรงที่ว่า ปกติไม่ค่อยทานขนม และเวลาตักจะตักแค่พอทานแบบตัวเอง เลยออกจะน้อยไปสำหรับคนธรรมดา แต่เอาจริงๆก็ไม่รู้ว่าน้อยจน อ.บอกแหละ โดยรวมจานนี้ดี)

อย่างสุดท้ายที่ทำคือขนมปังหน้าหมู อันนี้ระหว่างรอแกง เราก็มีเตรียมๆพวกขนมปัง หมักหมู เด็ดผักชี และก็หั่นพริกไว้บ้างแล้ว พอขนมเสร็จก็ตักแบ่งเป็น 8 ส่วน ให้พอดีกับ ขนมปัง 2 แผ่น ทาให้เสมอๆกันไม่หนาเกินไป อันนี้เกือบลืมเตรียมไข่ชุบหน้า แต่ก็รอดมาได้ อ่อ ก่อนหน้านั่น เราเตรียมน้ำส้มอาจาดไว้ค่อนข้างนานแล้ว เนื่องจาก ต้องรอให้หายร้อน พอเราเตรียมเสร็จ ก็เดินไปเตากลาง โชคดีตรงที่ได้ทอดเลย ก็ดูๆน้ำมัน ร้อนกำลังดี เอาขนมปังชุบไข่ และก็เอาด้านที่มีหมูลง พอดูๆว่าเริ่มสุกก็กลับด้านให้สีสวยเสมอๆกัน พอใกล้เอาขึ้นก็เร่งไฟเล็กน้อย ไล่น้ำมัน

(พออันนี้เสร็จ ตอนแรกกะใส่จานใหญ่หน่อย แต่ดูๆแล้วคนเดียวทานเลยใส่จานพอดีๆ อ.บอกให้แต่งจานด้วย เราเลยไปแต่งตรงจานน้ำจิ้มแทน อันนี้ยอมรับเลยว่าลืมคิด ว่าขนมปังหน้าหมู ทานกับอาจาด น้ำจิ้มก็ควรเยอะหน่อย อันนี้ดันไปใส่ถ้วยเท่าที่ใส่พริกน้ำส้ม และก็จานคิดไว้แล้วนะว่าควรเป็นจานเปล แต่ด้วยความงอแงอะไรของผู้เขียน พอหาไม่เจอแทนที่จะบอกอ. อ.ก็พยายามย้ำตั้งหลายทีว่าถ้าอยากได้อะไรให้บอก ก็ไม่บอก เอาออกไปส่งเลย ชุดนี้เลยโดนเรื่องการแต่งจาน ขนาดจาน ปริมาณน้ำจิ้มไป แต่ในส่วนของรสชาติ ok และหมูสุก จานนี้เลยผ่าน)

บอกตรงๆเลย ตอนแรกเกือบยอมแพ้ตั้งแต่อ.บอกว่าถ้าเกินเวลา ตกเลย เพราะปกติเป็นคนทำอาหารค่อนข้างช้า ฝึกมาน้อย แต่ใจก็แอบสู้ บอกมาสอบแล้วก็เอาให้เต็มที่สิ ไปๆมาๆ เสร็จก่อน ตั้ง 3 คนแหนะ คือเสร็จคนที่ 7 เกินเวลาไปน่าจะ 20-30 นาที ก็แอบภูมิใจ

ยาวเชียว คร่าวๆ อาหารแต่ละจาน จะมีคะแนน ภาชนะ หน้าตา ลักษณะ การจัดตกแต่ง แล้วก็รสชาติ

อันนี้คะแนนทั้งหมดทั้งทฤษฎี แกะสลัก และปฎิบัติ รวม 200 คะแนน ยังไม่รู้ว่าได้คะแนนเท่าไหนก็รอลุ้นต่อไป

สู้ต่อไปทาเคชิ ^^ หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะคะ

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1

หลังจากห่างหายไปนาน ผู้เขียนไปฝึกปรือ ทำอาหารไทย ขนมไทย และความรู้อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยมา เช่น การแกะสลัก (อยู่ก็เหมือนมีอะไรมาดลใจ และก็เริ่มศึกษา และก็เริ่มชอบขึ้นมา ดีจุง)

ได้เรียนที่โรงเรียนครัววันดี สนุกดี เป็นช่วงที่มีความสุข อ.น่ารัก ใจดี ทุกคนเลย เรียน เสาร์-อาทิตย์ ไปประมาณ 6 เดือนได้ (ใครอยากเรียนเข้าไปดูเว็บนี้ได้เลย http://www.wandeethaicooking.com/)

พอเรียนจบก็ถือโอกาสสอบ ซึ่งทางโรงเรียนเปิดสอบแก่บุคคลทั่วไป 2 แบบ คือ

  1. ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1 (ศูนย์ทดสอบ)
  2. การทดสอบฝืมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ (สถานทดสอบ)

=======================================================================

ในบทความนี้ จะเล่าถึง ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1 (ศูนย์ทดสอบ) ก่อน

สอบเพื่ออะไร

  • ใช้ในการยื่นประกอบ ขอวีซ่าในการทำงานยังต่างประเทศได้
  • เป็นการวัดระดับ เทียบเท่า กับ ผู้ช่วย พ่อครัว แม่ครัว (วัดการทำตามคำสั่ง และการหั่น สับ ซอย)

ใครสมัครสอบได้บ้าง

  • คนไทย อายุ 18 ปี ขึ้นไป
  • ไม่เคยต้องโทษ และ ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง (ก็อาหารเป็นอะไรที่ส่งผลต่อผู้รับประทานโดยตรงเนอะ)
  • มีประสบการณ์ทำงานด้านอาหารไทย >= 1 ปี หรือ ผ่านการอบรมมา >= 90 ชั่วโมง

สิ่งที่ใช้ในการสมัครสอบ

  • ใบสมัคร (อันนี้ไปกรอกที่โรงเรียนได้เลยมีตัวอย่างให้ดูอยู่ ข้อมูลเราน่าจะกรอกได้อยู่แล้ว)
  • สำเนาบัตรประชาชน (อย่าลืมเซ็นต์ สำเนาถูกต้องด้วยนะคะ)
  • ใบผ่านงานด้านอาหารไทยอย่างน้อย 1 ปี หรือ ใบประกาศนียบัตรการอบรมด้านอาหารอย่างน้อย 90 ชั่วโมง
  • รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป (ไม่ควรเอารูป 2 นิ้วมาตัดเป็น 1 นิ้ว ลงทุนหน่อยเพื่ออนาคต แต่จริงๆถ่ายมาครึ่งโหล หรือโหลนึงเลยก็ได้ ราคาไม่ต่างกันมาก เพื่อใช้อื่นๆอีกได้)
  • ใบรับรองแพทย์ 1 ชุด (ตัวจริง ก็ไปโรงพยาบาล ขอใบรับรองแพทย์ ตรวจร่างกาย)
  • ค่าสมัคร 1000 บาท

วันสอบ

การแต่งกาย

ก็มีเสื้อเชฟ หรือ เชิิ้ตขาวแขนสั้น, กางเกงผ้าสีดำหรือเข้ม, รองเท้าหุ้มส้น (ผ้าใบสีดำก็ได้), หมวกคลุมผม (ถ้าผมยาวมากๆอาจใช้หมวกคล้ายๆหมอในห้องผ่าตัดได้), ผ้ากันเปื้อน, เตรียมผ้าเช็ดมือมาด้วยก็ได้ และที่สำคัญ เล็บควรตัดให้เรียบร้อยและสะอาด  ไม่ควรใส่อะไรๆที่แถวๆมือ (ที่สอบ มีอุปกรณ์ให้พร้อมเช่นมีด แต่ใครจะเอามาเองก็ได้ เพื่อชินมือ)

การสอบ

7.40 > ควรมาถึงสถานที่สอบ

8.00-9.00 > เริ่มสอบทฤษฎี เป็นปรนัย 4 ตัวเลือก ให้กากบาทข้อที่ถูก มี 50 ข้อ เวลา 60 นาที ต้องผ่าน 35 ข้อถึงได้สอบปฏิบัติต่อไป (ถ้าตกหมดสิทธิ์สอบปฎิบัติ)

การสอบทฤษฎี

จะเป็นพวกความรู้ทั่วไปด้านอาหาร เช่น วัตถุดิบต่างๆ ผลไม้ตามฤดูกาล, การเก็บรักษา ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ของแห้ง, เครื่องเทศในอาหารไทย, หมู่อาหาร, วิตามินอะไรละลายในน้ำ, การวัด ชั่ง ตวง, การตวงของแห้ง ของเหลว การเทียบค่าต่างๆ, การเลือกซื้อ เนื้อสัตว์, ผัก, ผลไม้, ของแห้ง ประเภทต่างๆ, แป้งแต่ละอย่างลักษณะเป็นอย่างไร เอาไว้ใช้ทำอะไรได้บ้าง เส้นอะไรใช้แป้งอะไร, มีภาษาอังกฤษบ้างเล็กน้อย เช่นข้าวผัด การปอก เครื่องปั่นอาหาร, และอื่นๆก็พวกความรู้ทั่วไป เช่นการต้มไข่

9.00-10.00 > พัก รอตรวจข้อสอบ (พยายามไปหาอะไรง่ายๆทานแล้วรีบกลับมาเตรียมตัวดีกว่า เวลาอาจเปลี่ยนแปลงตามที่อ.ผู้ทดสอบแจ้ง)

10.00-13.00 > สอบปฎิบัติ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ซึ่งก่อนสอบ อ.จะชี้แจงการให้คะแนน และอธิบายถึงเมนูที่เราจะต้องทำ มี 4 อย่าง มีหลายชุด ชุดที่ผู้เขียนได้สอบคือมี ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้ว ยำวุ้นเส้น แกงเลียง ขนมกล้วย (อื่นๆที่เคยได้ยินมาก็มี ต้มยำกุ้ง ข้าวคลุกกะปิ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล มันต้มขิง แกงจืดสามกษัตริย์ หลนเต้าเจี้ยว ขนมจีนซาวน้ำ)

การสอบปฎิบัติ

เริ่มปุป ล้างมือก่อนเลย เรื่องความสะอาดเป็นอย่างแรกๆที่ควรนึกถึง

การเตรียม ให้ลองเรียงลำดับ ดีๆ ทำอะไรก่อนหลัง เช่น ขนมกล้วย ต้องนึ่งตั้งครึ่งชั่วโมง ถ้าทำหลังสุดก็แลดูเสียเวลาไปหน่อย การเดินไปหยิบของมาให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราจะทำขณะนั้น คำสั่งว่าให้ชั่ง ตวง เท่าไรก็ให้ทำตามนั้น

การปรุง การใช้ภาชนะ และอุปกรณ์ให้ถูกต้อง ความปลอดภัย

ความสะอาดในบริเวณก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง เนื่องจากอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

ตำแหน่งของการสอบจะไม่มีใครรู้จนได้เข้าสอบ ซึ่งแต่ละตำแหน่งก็จะมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันไป อ.ก็จะดูให้ เช่นบางคนใกล้ที่หยิบอาหาร บางคนใกล้ เครื่องปรุง ใกล้ที่ล้างจาน

การจัดเสริฟ์ ภาชนะตามที่อ.บอกไว้ จะมีจานตัวอย่างวางไว้อยู่ ให้หาอีกชุดที่เหมือนกันมา ใส่อาหาร 2 ชุดให้เหมือนกัน

ที่สำคัญคือมีสติ อย่าลน ทำอาหารให้ออกมามีลักษณะที่ถูกต้อง และรสชาติถูก ทานได้ก็เป็นอันเรียบร้อย

ผ่านคือ > 70% แต่ถ้าจะไปนิวซีแลนด์ต้อง 75%

อันนี้เนื่องจากที่โรงเรียนมีอบรม เราก็เลยมาอบรมก่อน (ถ้าใครสะดวกอยากแนะนำให้มาอบรม ได้ฝึกก่อนปฏิบัติจริง ได้รู้ว่าควรปรับปรุงอะไร แต่ก็อย่าเกร็งจนสอบจริงยิ่งไปกันใหญ่ ก็มีมานะ เช่นตอนฝึกอ.บอกลวกวุ้นเส้นเละไป วันจริงมาแบบไม่สุก ก็ไม่ผ่านนะจะ)

อันนี้เราเพิ่งสอบไปเสร็จร้อนๆ ไม่ถึงอาทิตย์ ยังไม่รู้คะแนนสุดท้าย แต่รู้ว่าผ่าน

ตอนทำเราเรียงลำดับทำตามนี้ ขนมกล้วย > แกงเลียง > ยำวุ้นเส้น > และก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้ว (อันนี้ผัดชอบติดกระทะ ถ้าต้องเอากระทะไปทำอย่างอื่นอาจต้องรอล้างพอควร)

อันนี้พอส่งให้อ. ตรวจ จะมีกรรมการ 3 คน ให้คะแนน จะชิมตามลำดับการส่ง เนื่องจากค่อนข้างมือใหม่ เลยเสร็จเกือบสุดท้าย พออ.เรียกไปฟัง อ.ก็ถามก่อนเลยมั่นใจจานไหนที่สุด ก็ตอบไปว่า ขนมกล้วย อ.ถามว่าชิมหรือยัง (ในใจแอบใจเสียเล็กน้อย) ตอบอ.ไปว่ายังไม่ได้ชิมค่ะ อ.บอกลองชิมสิ เราก็ชิม เราก็ว่าอร่อยดี อ.บอกว่าแป้งเยอะไป หนึบดี แต่มีกลิ่นแป้งนิดๆ เราก็เลยนึกได้ว่ากล้วยเราเอามา 3 ลูกเห็นว่าเกือบเต็มแล้วเลยไม่ได้เอาลูกที่ 4 มาเพิ่มเพราะกลัวเยอะเกิน แต่ก็ลืมคิดไปว่าอันนี้ชื่อขนมกล้วย กล้วยเยอะหน่อยก็ไม่ผิดอะไรแต่อย่าเยอะเกินไป อาจแค่พูนๆ จานนี้ไม่เลวร้าย

ต่อมาแกงเลียง อ. พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเค็มไปหน่อย แต่แก้ได้ด้วยการเติมน้ำซุบเพิ่ม อ.ก็ถามว่าตวงกะปิเยอะไปไหม เราก็บอกไปว่าพอดีๆ ค่ะ แต่ผักอาจน้อยไปหน่อย (คือตอนซ้อมใส่ผักเยอะแล้วมันจืดไป เลยลดผักลง แต่ก็ดันลดเยอะไปหน่อย) ถ้าใส่ผักเพิ่มก็จะพอดีๆ อันนี้อ.ก็ยังให้ผ่านอยู่

ยำวุ้นเส้น อ.บอกรสดีเลย (ตำเหนื่อยพอควร เทคนิคคือใส่เกลือไปตำกับพริก ตอนซ้อมไม่ได้ทำงี้ ตำยาก และการเลือกพริกก็สำคัญ ควรเลือกสีแดงสด สีได้ออกมาสวยๆ) จานนี้พลาดนิดหน่อยตรงวุ้นเส้น อ.บอกว่าอีก 2-3 % จะสุกพอดีมากๆ แต่ถ้าใครชอบเส้นไม่เละมากก็กำลังดี และหั่นเนื้อสัตว์ ออกมาสวย จานนี้ที่ใช้เวลาจะเป็นพวก ต้องลวกกุ้งเอง กับทอดกุ้งแห้งให้กรอบ (ที่สำคัญ อย่าลืมใส่กุ้งแห้ง เพราะจะใส่หลังสุด คนชอบลืม)

อย่างสุดท้าย อ.ชม คือผัดซีอิ้ว อ.บอกว่า ในการสอบวันนี้ จานนี้ก็ลำดับต้นๆ เลย ภูมิใจนะ แต่ก็มีติงๆบ้างว่าผักเยอะไปหน่อย (เอาจริงๆก็กะยากอยู่ ในคำสั่งบอกว่า 3 ต้น แต่ ต้นที่มีให้เลือกใหญ่มากๆ เราก็หยิบลดๆลงแล้วก็ยังเยอะอยู่ดี) จานนี้คนตกเยอะมาก เช่น เส้นขาด เส้นไม่หอม ผักหั่นไม่พอดีคำยาวไป เทคนิคที่จะไม่ทำให้เส้นขาดคือใช้สันตะหลิวคนเป็นวง และถ้าจะให้หอมก็ต้องเร่งไฟผดตอนท้ายๆด้วย

หลังจากอ. ทั้งติ ทั้งชม ก็บอกว่าผ่านนะคะ จังหวะ ณ ตอนนั้น รู้สึกโล่งมาก

ที่จริงเป็นวันเกิดด้วยวันนั้น เลยดีใจ 2 เท่า เป็นของขวัญวันเกิดที่เจ๋งชะมัด

ท้ายนี้ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้มีความฝัน และความพยายาม สู้ๆนะคะ ทุกคน

บทความหน้า สถานทดสอบ (มีผัดซีอิ้วด้วยแหละ แต่คนละสูตร อ.ก็บังเอิญเป็นคนเดิม เลยโดนติงมาเล็กน้อยว่าทำไมรอบนี้ไม่ดีเท่าคราวที่แล้ว ก็แอบหงอยๆไป แต่ พอคนละสูตรแล้ว มันให้ความรู้สึกต่างกันแหะ แอบกลัวเส้นขาดกว่าปกติ)